เทศกาลคเณศจตุรถี งานยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ณ จักรพรรดิเทวาลัย
เทศกาลคเณศจตุรถีในครั้งนี้ ถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับจักรพรรดิเทวาลัย และยังเป็นการรวมตัวกันของลูกศิษย์อาจารย์เอ และเหล่าผู้ที่มีความเชื่อความศรัทธาในองค์พ่อพระพิฆเนศ เพราะในวันคเณศจตุรถีนอกจากจะเป็นวันประสูติพระองค์ท่านแล้ว ยังเป็นวันที่พระองค์ท่านจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อประทานพรให้แก่คนที่รักและเคารพพระองค์ท่าน
โดยปกติแล้วในประเทศไทยของเราจะมีวัดที่จัดเทศกาลคเณศจตุรถีแบบนี้ทุกปีอยู่แล้ว ด้านการทำพิธีจะนำโดยพราหมณ์ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลพราหมณ์ดั้งเดิมโดยตรง ส่วนระยะเวลาการจัดเทศกาลจะนิยมจัดกันประมาณ 10 วันเต็ม และการประกอบพิธีจะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าเป็นอันขาด เพราะเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ใช่ใครก็ได้เข้าในพิธี
แต่สำหรับจักรพรรดิเทวาลัยนั้น การประกอบพิธีดังกล่าวบุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ โดยผู้ประกอบพิธีคือพราหมณ์จากประเทศอินเดีย และการทำพิธีนั้นยังเป็นแบบฉบับดั้งเดิมอย่างถูกต้อง ตามศาสนาฮินดูแท้อีกด้วย
วันรับเชิญเสด็จ
นี่คือบุตรธิดาคนโปรดขององค์พ่อพระพิฆเนศเกือบ 1 หมื่นคน ในงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปี ซึ่งใช้งบประมาณไปเกือบหลัก 10 ล้านบาท กับงานคเณศจตุรถีที่จักรพรรดิเทวาลัย และจัดต่อเนื่องถึง 30 วัน ทุกคนที่มามาด้วยหัวใจที่รักและศรัทธาองค์พ่อ เพราะเป็นวันที่ทุกกคนรอคอยมาตลอดทั้งปี ที่พระองค์จะเสด็จลงมาใกล้เรามากที่สุด โดยพิธีเริ่มตอนเวลา 4 โมงเย็น ซึ่งหลายคนเดินทางมาตั้งแต่เที่ยงคืนก่อนวันงาน ทุกคนพร้อมใจกันใส่ชุดสีแดงและสีขาว เพราะสีแดงนั้นเป็นสีที่พระองค์โปรดปรานมากที่สุด
งานคเณศจตุรถีในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2566 เมื่ออาจารย์เอเดินทางมาถึงที่งานตอนเวลาบ่าย 3 โมง สิ่งแรกที่อาจารย์ต้องทำคือการเจิมหน้าผากตัวเอง โดยมีท่านพราหมณ์ศรีวิษณุโกมินทราชาสวามิเป็นผู้เจิม ซึ่งการเจิมนี้เป็นการเจิมในฐานะที่อาจารย์เอเป็นพราหมณ์เช่นกัน และสัญลักษณ์ที่เจิมนั้น เรียกว่า “ตรีปุณทระ” หมายถึงความผาสุข การนำความสุข การเป็นผู้บริสุทธิ์และยังเป็นดั่งตัวแทนองค์พ่อพระพิฆเนศอีกด้วย
หลังจากนั้นอาจารย์เอได้เดินไปยังเต็นท์ใหญ่เพื่อเจิมหน้าผากให้กับลูกศิษย์ประมาณ 2,000 กว่าคน การเจิมในครั้งนี้อาจารย์เอได้ใช้ผงกุมกุมเพื่อเจิมให้แก่ศิษย์ ซึ่งวิธีการเจิมอย่างถูกต้อง คือต้องเจิมระหว่างคิ้ว เพราะเชื่อว่า “จุดอาจนาจักรกะ” ที่เปรียบเสมือนดวงตาแห่งปัญญา จักรกะนี้ใช้เป็นดวงตาที่สามเป็นพาหนะแห่งญาณวิเศษ สำหรับการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน เพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งปัญญา ระหว่างการเจิมด้านพราหมณ์ได้ประกอบพิธีปูรวางคบูชา ซึ่งเป็นพิธีทีปบูชาหรือการบูชาไฟและยังมีพิธีคุรุบูชา ที่หมายถึงการบูชาครูบาอาจารย์ที่เราเคารพ พิธีคณปติบูชาเป็นการบูชาองค์พ่อพระพิฆเนศ กลัศบูชา คือ การบูชาหม้อน้ำ ฆัณตบูชาเพื่อบูชากระดิ่ง ภูมิบูชา คือ การบูชาพระแม่ธรณี พิธีเทวครหบูชา คือ การอันเชิญเทพเข้าสู่พิธี และพิธีวรุณาปุญวัชชณัมกุมะภะบูชา คือพิธีพรมน้ำชำระล้างสิ่งอาถรรพ์ในพิธี
จากนั้นเป็นพิธีอันเชิญองค์พระพิฆเนศมายังเทวาลัย โดยอาจารย์ได้มีการสั่นกระดิ่ง 9 ครั้ง เปรียบเสมือนเป็นการเปิดสวรรค์ เพื่อเตรียมรับเสด็จองค์พ่อพระพิฆเนศ ต่อด้วยการจุดประทีป พร้อมช่วยกันกล่าวบทสรรเสริญพระองค์อย่างต่อเนื่อง จากนั้นเป็นการสรงสนานด้วยว่านน้ำร้อยแปด ซึ่งนำมาจากอินเดีย รวมถึงน้ำที่ใช้ในพิธีทั้งหมดนั้น ได้นำมาจากแม่น้ำพระแม่คงคา เพื่อนำมาสรงสนานองค์พ่อพระพิฆเนศ ก่อนที่จะเข้าพิธีถวายไฟแก่พระองค์ท่านเพื่อเป็นการชะล้างสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากชีวิต ตามด้วยมหาสังฆ์ที่บรรจุด้วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ และหม้อกลัศพร้อมใบมะม่วงที่ถือว่าเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ตามคติฮินดู หลังจากที่ได้ประกอพิธีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว อาจารย์เอได้นำน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์นี้ พรมให้กับผู้ที่มาร่วมงานทุกคน เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
และช่วงเวลาสำคัญที่สุดของงาน คือ การอัญเชิญองค์พ่อพระพิฆเนศเข้าไปในที่ประทับของพระองค์ท่าน ที่อาจารย์เอได้เตรียมไว้อย่างยิ่งใหญ่และสวยงาม เพื่อปิดม่านและแต่งองค์ให้กับท่าน ขณะเดียวกัน ซ้อเวย์ได้รับหน้าที่อัญเชิญองค์พระพิฆเนศอีกหนึ่งองค์ไปที่เต็นท์ใหญ่ เพื่อให้พิธีดำเนินไปพร้อมกันอย่างราบรื่นนั่นเอง พร้อมกันนั้นอาจารย์เอได้ถือโอกาสนี้เปิดตัวองค์พ่อพระพิฆเนศ ปางเศรษฐีสยาม ซึ่งเป็นองค์จำลอง โดยองค์ประทานนั้นจะมีขนาดหน้าตักประมาณ 2 เมตร ออกแบบโดยศิลปินระดับประเทศ และพระองค์ท่านนั้นเกิดมาเพื่อประทานพรความร่ำรวย ความสำเร็จแก่บุตรธิดาที่ศรัทธาพระองค์ท่าน
หลังจากเปิดม่านเสียงปรบมือเฉลิมฉลองดังกึกก้องไปทั่วทั้งงาน ส่วนของที่ถวายพระองค์ท่านได้รับการคัดสรรมาอย่างดี ซึ่งการถวายครั้งนี้เต็มไปด้วยของที่พระองค์โปรดปรานมากที่สุด ต่อมาเป็นพิธีสวดมันตราเพื่อสรรเสริญพระองค์ท่าน 1,008 พระนามของพระองค์ ขณะเดียวกัน เป็นพิธีวิเศษะบูชาที่ถวายต่อองค์พ่อพระพิฆเนศ ปางเศรษฐีสยาม ในช่วงของการอารตรีไฟ อาจารย์เอได้จุดประทีปเพื่อนำประทีปเดียวกันนี้ไปให้กับเต็นท์ใหญ่ เพื่อให้ทุกคนที่มาร่วมพิธีได้ใช้ประทีปเดียวกันในการอารตี และขอพรไปพร้อมกัน ปิดท้ายงานด้วยการแสดงนาฏยัมเพื่อถวายองค์พ่อ เพราะงานคเณศจตุรถีเปรียบเสหมือนเป็นการเชิญญาติผู้ใหญ่เข้ามาในบ้านของเราทุกอย่างล้วนมีความหมายเพื่อสร้างความประทับใจ ให้ท่านเอ็นดูและประทานพรแก่เราทุกคน พร้อมกับการอารตีไฟที่หมายถึงการแสดงความเคารพต่อองค์เทพอย่างสูงสุด ที่เหนือกว่าการสวดมนต์และถวายของสังเวยทั้งปวง
วันสรรเสริญและขอพร
ขบวนแห่ในครั้งนี้เต็มไปด้วยความตั้งใจจากความศรัทธาอย่างเปี่ยมล้น ทันทีที่ขบวนแห่เข้ามาในปรัมพิธีทุกคนต่างตะโกนสรรเสริญพระองค์ท่านด้วยความปิติ ส่วนชุดการแสดงนั้นถูกออบแบบใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ยิ่งใหญ่และสมกับบารมีของพระองค์ท่านที่สุด
จากนั้นเป็นพิธีสวดมันตราคุรุเทพ เป็นการสวดสรรเสริญองค์พระพิฆเนศและครอบครัวของพระองค์ท่าน โดยอัญเชิญพระพิฆเนศจากคัมภีร์ฤคเวท คือ คัมภีร์เก่าแก่ที่สุด ต่อด้วยพิธีสะเดาะเคราะห์เสริมมงคลตามวันเกิด เพื่อให้ทุกท่านได้ตั้งจิตอธิฐานขอพรในสิ่งที่ปรารถนา ให้การสวดบูชาพระแม่ธรณีนี้ ส่งผลให้ทุกที่ที่ทุกคนจะก้าวเท้าไป เกิดแต่ความสุขความเจริญมั่นคง เสมือนมีพระแม่ธรณีคอยโอบอุ้มให้มีชัยในทุกก้าวของชีวิต ให้การสวดบูชาทั้งสี่ทิศที่ทุกคนอาศัยอยู่เป็นทิศแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย และไม่ว่าจะหันหน้าไปทางทิศใดให้ทุกทิศมีแต่ความบริบูรณ์พูลสุข ต่อมาเป็นพิธีสะเดาะห์เคราะห์ และเสริมมงคลตามวันเกิด คือ การสวดเทพนพเคราะห์ประจำวันเกิดของแต่ละบุคคล พร้อมทั้งร่วมกันนำดอกไม้ไปวางไว้หน้ารูปองค์พระพิฆเนศทั้ง 32 ปาง เพื่อเป็นการถวายความรักและความศรัทธาแก่พระองค์ท่าน ช่วงท้ายของงานจะเป็นการอารตีไฟหรือพิธีบูชาไฟ ซึ่งหมายถึงการแสดวงความเคารพต่อพระองค์ท่านอย่างสูงที่สุดอีกด้วย
ในพิธีใหญ่ครั้งที่ 2 นั้นคือ “พิธีสะระวะเดวะปูชา” หรือการบูชาเทพนพเคราะห์ (เทวดาประจำวันเกิด) ซึ่งที่ผู้มีจิตศรัทธามาร่วมงานมากกว่า 1,700 คน การจัดงานในแต่ละครั้งเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล พิธีนี้ถูกจัดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2566
วันส่งเสด็จกลับ
โดยงานในวันได้เริ่มตอนเวลา 09:19 นาทีเพราะเป็นฤกษ์ดีและฤกษ์มงคลที่สุด ช่วงเช้าก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่พิธีนั้น อาจารย์เอและพราหมณ์มอสร่วมกันนั่งเจริญสมาธิเข้ากรรมฐานเป็นเวลา 30 นาที เพื่อเป็นการถวายบุญนี้แด่องค์พ่อพระพิฆเนศ รวมถึงส่งบุญนี้ไปยังลูกหลานผู้ที่มีความศรัทธาในพระองค์ท่าน ให้มีความสุขความสำเร็จดั่งที่ปรารถนา ซึ่งพิธีในช่วงเช้าเป็นการสวดสรรเสริญ สวดมันตราถวายแด่องค์พ่อ เพื่อความเป็นสิริมงคลเกิดขึ้นกับทุกคน ขนาดเดียวกันด้านอาจารย์เอได้ใช้พัดหางนกยุงพัดถวายแด่องค์พ่อพระพิฆเนศ เพราะตามความเชื่อ “นกยุง” เป็นสัตว์สิริมงคล ขนของนกยุงจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และสร้างความเจริญแก่ผู้ที่บูชา
ส่วนการถวายเครื่องไหว้สักการะในวันนี้ มีความแตกต่างจากการถวายทุกครั้ง เนื่องจากวันนี้การถวายเป็นการที่อาจารย์เอจะต้องหยิบขนมทีละชิ้น เหมือนกับการป้อนเข้าปากของประองค์ และการป้อนนั้นจะต้องล้างมือทุกครั้ง หลังจากที่ถวายปัญจเณวะ ปัญจอมฤทธิ์และผลไม้มงคลครบแล้ว ของถวายทั้งหมดนี้จะนำไปแจกจ่ายให้กับทุกคนในงาน เพราะมีความเชื่อว่าการได้ทานขนมหรือของที่ใช้ไหว้พระองค์นั้น จะนำมาซึ่งความสุข ความสำเร็จดั่งปรารถนา ต่อมาได้พร้อมใจกันสวดมันตราให้กับพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากเหลือเหลือเกิน เพราะทั้งหมดนี้เราล้วนตั้งใจทำมาจากความรักและความศรัทธาที่มีต่อพระองค์
หลังจากที่อาจารย์เอได้ผูกข้อมือแก่ศิษย์เรียบร้อยแล้ว จะเป็นการอัญเชิญองค์พ่อพระพิฆเนศกลับไปประทับ ณ ที่ประทับเดิมของท่าน การอัญเชิญพระองค์ในครั้งนี้อาจารย์เอเป็นผู้นำประทีป ส่วนพราหมณ์เป็นผู้ใช้พัดขนนกยุงเพื่อปัดเป่าเปิดทาง ด้านศิษย์จักรพรรดิที่เป็นผู้ชายช่วยกันยกพระองค์ไปยังที่ประทับเดิมของท่าน และก็มีเหตุการณ์ที่ต้องทำให้ทุกคนเกิดความศรัทธายิ่งขึ้นไปอีก นั้นก็คือก่อนหน้านี้ท้องฟ้ามืดครึ่มไม่มีแดด และมีฝนตกเล็กน้อย แต่ทันทีที่พระองค์ประทับเสร็จ พร้อมกับอาจารย์เอกำลังถวายหนูมุสิกะ สิ่งที่เกิดขึ้นในวินาทีนั้น คือ ฟ้าเปิดทันทีและเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด เมื่อมองขึ้นไปได้มีแสงแดดสีทองส่องลงมาที่ประทับขององค์พ่อพระพิฆเนศ เพราะนั้นหมายถึงพรที่เราปรารถนาพระองค์ท่านได้รับรู้แล้วนั่นเอง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพียง 5 นาทีเท่านั้น
หลังจากที่ทำพิธีที่จักรพรรดิเทวาลัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจารย์เอจะต้องนำพระพิฆเนศที่ปั้นด้วยดินเหนียวจากงานคเณศจตุรถีไปส่งเสด็จที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งการส่งเสด็จพระองค์ในครั้งนี้อาจารย์เอได้เหมาเรือสำราญลำใหญ่หนึ่งลำ เพื่อทำพิธ๊ให้สมพระเกียรติพระองค์ท่านมากที่สุด โดยมีศิษย์จักรพรรดิจิตอาสากว่า 200 คน ร่วมส่งเสด็จพระองค์ท่านเช่นกัน ซึ่งภายในเรือได้มีการประดับตกแต่งเพื่อประกอบพิธีในการส่งเสด็จอีกครั้ง และช่วงเวลาที่น่าประทับใจก็มาถึงคือ การเคลื่อนขบวนไปขึ้นเรือสำราญเพื่อประกอบพิธี นำโดยท่านบัณฑิตโมฮานที่เป็นพราหมณ์ทำพิธีประจำจักรพรรดิเทวาลัยของเรา ตามด้วยอาจารย์เอและเสลี่ยงที่มีศิษย์จักรพรรดิผู้ชายช่วยกันอันเชิญพระองค์ทั้ง 3 ปาง ขณะเดียวกันระหว่างทางได้มีศิษย์จักรพรรดิร่วมกันร้องสรรเสริญพระองค์ท่านตลอดทาง
หลังจากที่พระองค์ท่านประทับบนเรือสำราญเรียบร้อยแล้ว พิธีต่อไปคือพิธีสวดสักการะอีกครั้ง ก่อนที่พวกเราจะร่วมกันส่งเสด็จพระองค์ท่านลงสู่แม่น้ำแห่งชีวิตของเมืองไทยนั่นคือแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างที่เรือสำราญกำลังเคลื่อนไปอย่างช้าๆ พวกเราทุกคนได้ร่วมกันสวดมันตราถวายพระองค์อย่างพร้อมเพียงกัน จากนั้นเป็นการอัญเชิญพระองค์ขึ้นชิงช้าที่เตรียมไว้ เพื่อเป็นเทวะสำราญ ซึ่งเชื่อกันว่าหากได้ไกวชิงช้าให้กับพระองค์จนพระองค์พอพระทัย พระองค์ท่านจะประทานพรให้สำเร็จอย่างปรารถนา
และช่วงเวลาที่เรารอคอยก็มาถึง เพราะเรือได้เคลื่อนมาถึงที่หน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นจุดที่สวยที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคล และจุดนี้จะเป็นจุดที่พวกเราได้ร่วมกันส่งเสด็จพระองค์ท่าน เพื่อให้ผู้ที่มีความศรัทธาพระองค์ท่านได้มีชีวิตใหม่ดั่งแสงอรุณรุ่งที่สาดส่องสว่างไสว ดุจดั่งชีวิตมีพระองค์คอยชี้ทางเสมอ และพิธีส่งเสด็ขององค์พ่อพระพิฆเนศได้สำเร็จลุล่วงอย่างดี ท่ามกลางความสุข ความปิติยินดีของอาจารย์เอ ทีมงานและลูกศิษย์ทุกคน เพราะตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราได้จัดงานคเณศจตุรถีอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยความรักและความศรัทธา ซึ่งจุดเริ่มต้นทั้งหมดนี้เกิดจากสิ่งที่อาจารย์ และศิษย์ทั้งหลายได้ขอจากพระองค์ จนทุกคำขอพรนั้นได้สำเร็จสมหวังอย่างน่าอัศจรรย์ งานที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากความรักและความศรัทธาหมดหัวใจของพวกเราทุกคน